สุมงฺคลวิลาสินี

BIA-P.1.2.1/24

สุมงฺคลวิลาสินี

สุมงฺคลวิลาสินี

ชื่อคัมภีร์อรรถกถาอธิบายความในทีฆนิกาย แห่งพระสุตตันตปิฎก พระพุทธโฆษาจารย์เรียบเรียงขึ้น โดยอาศัยอรรถกถาภาษาสิงหฬ เมื่อ พ.ศ. ใกล้จะถึง 1000 สุมังคลวิลาสินี มีเนื้อหาค่อนข้างยาว เนื่องจากเป็นการให้อรรถาธิบายแก่หมวดทีฆนิกาย แห่งพระสุตตันตปิฎก ซึ่งรวบรวมมพระสูตรที่มีขนาดยาวถึง 34 สูตร จุดประสงค์สำคัญของสุมังคลวิลาสินี คือให้ความกระจ่างเกี่ยวกับพระธรรมวินัย ด้วยการอธิบายรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ อาทิ การอธิบายว่า การฆ่าสัตว์นั้น มีโทษน้อยในสัตว์เล็ก มีโทษมากในสัตว์ใหญ่ เพราะมีความพยายามมาก , ปาณาติบาตมีองค์ 5 มีประโยค 6 ตัวอย่างเช่นในอรรถกถาพรหมชาลสูตร ของทีฆนิกาย สีลขันธวรรค ซึ่งเกี่ยวข้องกับศีลเป็นหลัก ได้มีการอธิบายถึงการกล่าวผรุสวาท ว่าจะต้องประกอบด้วย 1. อกฺโกสิตพฺโพ ปโร คนอื่นที่ตนด่า 2. กุปิตจิตฺตํ จิตโกรธ 3. อกฺโกสนา การด่าจึงจะนับเป็นผรุสวาจา หรือการกล่าวถ้อยคำหยาบคาย อันเป็นส่วนหนึ่งของศีลข้อมุสาวาท ดังนี้

นอกเหนือจากการขยายความหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รวมถึงการอธิบายคำศัพท์ต่างๆ ที่ปรากฏในพระสูตรนานา ดังเช่นอรรกถาอื่นๆ แล้ว สุมังคลวิลาสินียังมีความโดดเด่นตรงเป็นคัมภีร์ที่บันทึกเรื่องราวเบื้องหลังอันเกี่ยวเนื่องกับพระสูตรนั้น รวมถึงประวัติศาสตร์แวดล้อม วรรณคดีโบราณ ประเพณีของชาวอินเดียในยุคนั้นที่เกี่ยวเนื่องกับพระสูตรและคำสอนที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียด

ในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับประวัติศาสตร์วรรณกรรม ตัวอย่างเช่นในอรรถกถาพรหมชาลสูตร ของทีฆนิกาย สีลขันธวรรค ยังมีการเอ่ยพาดพิงถึงเรื่องมหาภารตะ อันเป็นวรรณคดีเอกของอินเดียโบราณ อย่างไรก็ตาม เป็นการกล่าวในทำนองที่ว่า เนื้อหาในมหากาพย์เรื่องนี้ เกี่ยวพันกับการรณยุทธิ์ มิควรที่เอ่ยถึง เพราะเป็นติรัจฉานกถา กล่าวคือ “เป็นถ้อยคำที่ขวางทางสวรรค์และทางนิพพาน เพราะไม่ใช่ธรรมที่เป็นเหตุให้ออกไปจากทุกข์” ดังปรากฏเนื้อความว่า “แม้ในเรื่องการรบ มีเรื่องภารตยุทธ์เป็นต้น ถ้อยคำที่เกี่ยวกับความพอใจในเรื่องทายว่า คนโน้นถูกคนโน้นฆ่าอย่างนี้ แทงอย่างนี้นั่นแหละ ชื่อว่าติรัจฉานกถา. แต่เรื่องที่พูดอย่างนี้ว่า แม้คนชื่อเหล่านั้นก็ถึงความสิ้นไป ดังนี้ ย่อมเป็นกรรมฐานทุกเรื่องทีเดียว”

นอกจากนี้ ยังมีการอธิบายถึงสรรพวิทยาอันเกี่ยวเนื่องกับคำสอนต่างๆ อย่างน่าสนใจยิ่งเช่นการะบุว่า ครรภ์ย่อมพินาศด้วยเหตุ 3 อย่าง คือ ลม เชื้อโรค กรรม (อรรกถาพรหมชาลสูตร) การให้ความรู้ว่า เมื่อเอาผ้าสะอาด คลุมตลอดศีรษะ ไออุ่นแต่ศีรษะย่อมแผ่ไปทั่วผ้าทั้งผืนทีเดียว (อรรถกถาสามัญญผลสูตร) มีการอธิบายความหมายของคำว่า ไตรเพท หรือไตรเวทย์ ของพราหมณ์ (อรรกถาอัมพัฏฐสูตร) เป็นต้น

นับว่า สุมังคลวิลาสินีเป็นขุมความรู้อันยิ่งใหญ่ มิเพียงขยายความคำสอนและประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนาเท่านั้น แต่ยังบันทึกเรื่องราวขนบธรรมเนียมประเพณีโบราณ ธรรมชาติวิทยา มานุษยวิทยา ชีววิทยา ภูมิศาสตร์ และสรรพศาสตร์อีกมากมาย เทียบได้กับสารานุกรมยุคโบราณเล่มหนึ่งเลยทีเดียว

หมายเหตุ

- สันปกมีลายมือเขียนว่า "สุมังค ๑"

- มีลายมือเขียนตัวเลขไทย หน้า 20-21, 32, 46, 82-83,85, 87-90, 98, 103, 105-106, 108-109, 125, 133, 138-139, 142-143, 156, 319

- ขีดเส้นใต้ หน้า 35, 45, 47-49, 51-53, 58-59, 1, 63, 64-65, 92-118, 120-129, 133, 135-138, 142-157, 163, 165-166, 168-170, 175-178, 180-185, 187-192, 194-204, 261, 218-220, 223-225, 448

- มีลายมือเขียนตัวอักษร หน้า 42ล 44, 48, 61, 81, 91-93, 151, 195, 323, 448

- มีกระดาษขนาด 4.5 x 6.8 ซม. เขียนข้อความว่า "อริยมรรคมีองค์ 8 (นัยอรรถกถา)" คั่นระหว่างหน้า 386 - 387

Item

สิ่งพิมพ์บนกระดาษ ปกแข็ง จำนวน 497 หน้า

ที่มาจากหอสมุดธรรมทาน วัดชยาราม ชั้นสอง ตู้หมายเลข 2 ชั้นที่ 1

ทีฆนิกาย, พระสูตร, อรรถกถา, อธิบายธรรม

อธิบายธรรม, ทีฆนิกาย, พระสูตร, อรรถกถา